คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ในช่วงสงครามยาเสพติด

คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ในช่วงสงครามยาเสพติด

ผ่านมากว่า 14 ปีแล้วสำหรับคดีฆาตกรรมนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง วัยรุ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ถูกตำรวจฆาตกรรมอำพราง

ย้อนไปเมื่อปี 2546 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดแบบเด็ดขาด ชนิดที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องปราบปรามผู้ค้ายาและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ร้อยละ 25 จากจำนวนเป้าหมายที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศตส.จ.) กำหนดไว้ (บัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือบัญชีดำ) โดยใช้หลักเกณฑ์วัดผลเชิงปริมาณ 3 ประการ คือ 1. การจับกุมดำเนินคดีจนถึงขั้นอัยการส่งฟ้องศาล  2. การวิสามัญฆาตกรรมในกรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ 3. การที่ผู้ค้ายาเสพติดเสียชีวิตไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ก็อาจจะต้องพิจารณาโทษ[1]

แม้สาธารณะชนจำนวนมากจะชื่นชอบกับนโยบายที่เด็ดขาดดังกล่าว แต่การใช้มาตรการแบบแข็งกร้าว เร่งรัดกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่  รวมทั้งการกำหนดนโยบายการให้รางวัลตอบแทนและการลงโทษเพื่อให้มีการปฏิบัตินโยบายดังกล่าว  เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเร่งรีบเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐบาล ประกอบกับไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการดำเนินการต่างๆให้ชัดเจนรัดกุม  ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (บัญชีดำ) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดผลสำเร็จที่มุ่งเน้นการลดจำนวนผู้ค้าและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก[2]

จากรายงานเบื้องต้นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน หรือ คตน. ซึ่งแต่งตั้งโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี วันที่ 14  สิงหาคม 2550 มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ระบุว่าในช่วง 3 เดือนของนโยบายปราบปรามอย่างเด็ดขาด (1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2546) มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,873  คน โดยแยกเป็น

คดีฆาตกรรม 2,559 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 คน ในจำนวนเป็น
คดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 1,370 คน
คดีฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 834 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 878 คน
คดีฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 538 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 571 คน
คดีวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นทั้งสิ้น 45 คดี มีผู้เสียชีวิต 54 คน ในจำนวนนี้เป็น
คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 35 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 41 คน
คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 2 คน
คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตายจำนวน 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 11 คน

เมื่อเปรียบเทียบคดีฆาตกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2544 ,2545 2547 และ 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและหลังการประกาศสงครามยาเสพติด พ.ศ.2546  มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นสูงเฉลี่ยถึงร้อยละ 87.89  ต่อเดือน หรือเฉลี่ยจากเดือนละ 454 คดี เป็น 853 คดี[3]

ทั้งนี้ คดีจำนวนมากนับพันคดี ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้[4]

จากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2546 จำนวน 256 คำร้อง พบว่า บุคคลที่เป็นเป้าหมายในการปราบปรามจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักถูกเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด กลุ่มบุคคลที่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บุคคลที่มีตำแหน่งในชุมชนหรือคู่แข่งในการประกอบการในชุมชน ซึ่งอาจเป็นกรณีการกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่บุคคลที่มีข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ มักจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะปรากฏรายชื่อใน “บัญชีดำ”

ทั้งนี้ การกระทำต่อบุคคลเป้าหมายข้างต้น จะมีทั้งการถูกยิงเสียชีวิต โดยมักก่อเหตุหลังจากเดินทางกลับจากการรายงานตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หรือถูกยิงขณะอยู่บ้านพัก รวมถึงถูกวิสามัญฆาตกรรมทั้งที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ผลการสอบสวนส่วนใหญ่ระบุว่า ผู้กระทำผิดปกปิดใบหน้า ทำให้ไม่สามารถระบุพยานรู้เห็นได้ พนักงานอัยการจึงมักจะสั่งให้งดการสอบสวน เนื่องจากไม่สามารถระบุผู้กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544[5]

ภาพรวมสถานการณ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ช่วงสงครามยาเสพติด

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีบุคคลที่เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก แต่ที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีอย่างน้อย 21 ราย[6] โดยคดีส่วนใหญ่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะญาติของผู้เสียหายเกรงกลัวการถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องให้ดำเนินคดี  ส่วนกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครองนั้น  ด้วยความพยายามของญาติทำให้มีการสืบสวนสอบสวนจนนำไปสู่การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกาฬสินธุ์ 6 นาย

คำเบิกความของพยานโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นคณะทำงานจากสภาทนายความและลงตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ระบุว่า คนที่ถูกฆ่าในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถจับกุมคนร้ายมาได้เลย ลักษณะการตายของผู้ที่เสียชีวิตเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกันคือ ถูกยิงหรือถูกแขวนคอ ซึ่งจะถูกทำร้ายร่างกายก่อนที่จะถูกรัดคอจนเสียชีวิต แล้วนำศพมาแขวนคอ และบางรายหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ผู้เสียชีวิตที่ถูกยิงหลายรายถูกยิงกันกลางเมืองในเวลากลางวันต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก ผู้เสียชีวิตบางรายถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาถูกลอบยิงเสียชีวิต ส่วนผู้เสียชีวิตที่ถูกแขวนคอมีหลายรายที่ศพจะถูกนำมาแขวนในที่สาธารณะ หลังวัด ริมถนน ที่พักผู้โดยสาร หรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ลับตาคน เพื่อให้ได้มีผู้พบเห็น โดยมีจุดประสงค์ในลักษณะเพื่อประจานศพ และข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้กระทำผิดรายอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้แม้แต่รายเดียว (คำพิพากษาศาลอาญา หน้า 13)

ลำดับเหตุการณ์การฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์

เมื่อปี 2546 ขณะที่อายุได้ 16 ปี  นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ และศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 15 วัน หลังจากพ้นโทษแล้วนายเกียรติศักดิ์ฯ ก็ได้กลับมาอยู่กับย่า ซึ่งในขณะนั้นนายเกียรติศักดิ์ฯ อายุ 17 ปี

เกียรติศักดิ์จะเสียชีวิต ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จับกุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ในข้อหาลักทรัพย์เช่นเดียวกัน  โดยทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเกียรติศักดิ์ลักไปก็คือส่วนประกอบจักรยานยนต์ราคาประมาณ 200 บาท หลังถูกขังอยู่ที่โรงพักเป็นเวลา 7 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้ประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ออกไป ทั้งที่สมาชิกสภาเทศบาลเมืองคนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับนายเกียรติศักดิ์  กระทั่งต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 มีคนพบเกียรติศักดิ์ เสียชีวิตโดยถูกแขวนคอกับขื่อในกระท่อมกลางนา ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด  สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนหนึ่งให้ความสนใจต่อการเสียชีวิตครั้งนี้  ญาติของเกียรติศักดิ์ พยายามต่อสู้เพื่อให้เรียกคืนความยุติธรรมแก่หลานชายที่ตายไปท่ามกลางอุปสรรคและการคุกคามมากมาย จนในที่สุดสามารถนำเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

การจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจร พร้อมนายอดุลย์ ทองนาไชยและนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง

หมายเหตุ* หลังการเสียชีวิตของนายเกียร์ติศักดิ์ นายอดุลย์ ทองนาไชย หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย  ส่วนนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง ซึ่งเคยให้การกับกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้ว่าเห็นดาบตำรวจอังคาร คำมูลนา นำตัวนายเกียร์ติศักดิ์ ออกไปจากห้องขัง สองเดือนต่อมาหลังให้การ นายสุรศักดิ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถไถนาเดินตามอย่างมีเงื่อนงำ

ในการจับกุมดังกล่าวไม่มีหมายจับ ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อญาติ ไม่มีการแจ้งหรือให้ผู้ถูกจับกุมติดต่อญาติ  นางสา ถิตย์บุญครอง ย่าของนายเกียรติศักดิ์ ทราบเรื่องนายเกียรติศักดิ์ถูกจับจากเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2547 จึงได้เข้าเยี่ยมหลานชายระหว่างการถูกควบคุมตัว พร้อมเสื้อผ้าและของใช้ที่จำเป็นจำนวนหนึ่ง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2547  นางสา ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ไพบูลย์  ฐิติญาณวิโรจน์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ซึ่งขณะนั้นพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำนายเกียรติศักดิ์เสร็จแล้ว และได้ยื่นคำให้การของนายเกียรติศักดิ์ที่ได้ลงลายมือชื่อแล้วให้กับนางสาลงลายมือชื่ออีกคน นางสาได้ลงลายมือชื่อในคำให้การนั้นโดยไม่ได้อ่าน และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อ่านให้ฟังด้วย  การสอบสวนครั้งนั้นไม่มีนักจิตวิทยา และทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ  หลังจากนั้นนางสาได้พยายามจะขอเยี่ยมนายเกียรติศักดิ์อีก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กีดกันไม่ให้เยี่ยม จึงได้แต่ฝากของเยี่ยมผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น  ในวันนั้นนางสาได้บอกกับพนักงานสอบสวนว่าอีกประมาณ 2-3 วัน นางพิกุล  พรหมจันทร์ ซึ่งเป็นน้าของเกียรติศักดิ์ จะเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมาประกันตัว

วันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. พ.ต.ท.สำเภา  อินดี  รอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์  ได้ให้ตำรวจนายหนึ่งไปพานางสามาพบที่โรงพัก เมื่อนางสามาถึง  พ.ต.ท.สำเภา แจ้งนางสาว่าจะให้นายสุรศักดิ์ เรืองศรีมั่น สมาชิกสถาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ ซึ่งนางสาไม่เคยรู้จักมาก่อน โดย พ.ต.ท.สำเภา  ให้ตำรวจในโรงพักเป็นผู้จัดการเรื่องเอกสารประกันตัวให้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. นางสาได้ไปรอที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้ประกันตัว  นางสาจึงกลับมารอที่สถานีตำรวจ  พ.ต.ต. สุมิตร นันสถิต จึงบอกให้นางสากลับไปรอที่บ้าน ในระหว่างนี้เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ตำรวจได้อ้างว่ามีการปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์แล้ว

แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเวลาประมาณ 18.00 น. นายเกียรติศักดิ์ยังอยู่บนชั้น 2 ของสถานีตำรวจ ซึ่งในขณะนั้นมีบุคคลอื่นอยู่อีก ได้แก่ นางรัชฎาภรณ์ ภูกาสอน, นายมนต์ชัย ยลวิลาส และน.ส.อรัญญา มาหาญ  นายเกียร์ติศักดิ์ได้พูดกับ น.ส.อรัญญา ว่า “น้าครับ ผมขอยืมโทรศัพท์หน่อยครับ” และนายเกียรติศักดิ์ได้บอกให้นางสารีบไปรับตัวเพราะตำรวจจะนำตัวไปฆ่า นางสาจึงได้ไปที่สถานีตำรวจ แต่ถูกกีดกันจาก พ.ต.ต.สุมิตร ไม่ให้ขึ้นไปพบกับนายเกียรติศักดิ์ที่คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณชั้น 2 ของโรงพัก หลังจากนั้นนายเกียรติศักดิ์ได้โทรศัพท์ถึงนายอภิชาต สีหาลุน น้าชาย บอกให้รีบมารับ และได้ยินเสียงของนางสาอยู่ที่ชั้นล่างของสถานีตำรวจ ต่อมานางสาและญาติได้ขึ้นไปยังชั้น 2 ของโรงพักแต่ไม่พบนายเกียรติศักดิ์  พบเพียงกระเป๋าวางอยู่ที่บริเวณนั้น นางสาลงมาสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ความว่านายเกียรติศักดิ์กลับไปแล้ว แต่นางสาโต้แย้งว่ากระเป๋ายังอยู่ เจ้าหน้าที่จึงให้นางสากลับไปดูอีกครั้งหนึ่ง แต่กระเป๋ากลับหายไป หลังจากนั้นนางสาจึงได้แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่า พันตำรวจตรี สุมิตร นันสถิตย์ ได้ปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ตามหมายปล่อยตัวของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว แต่นายเกียรติศักดิ์ยังมิได้กลับบ้าน  

หมายเหตุ** หลังการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งเรียก น.ส.อรัญญาไปเจรจาเพื่อให้ การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าได้เจอกับนายเกียร์ติศักดิ์ที่สถานีขนส่ง อันขัดต่อความเป็นจริง น.ส.อรัญญาจึงไม่ยินยอม จากนั้น น.ส.อรัญญาต้องเปลี่ยนชื่อ รวมทั้งย้ายที่อยู่และไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากได้รับการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษในที่สุด

วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 มีคนพบเกียรติศักดิ์ เสียชีวิตโดยถูกแขวนคอกับขื่อในกระท่อมกลางนา จังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 25 กรกฎาคม 2547 นางสาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ว่าพบศพสงสัยว่าเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์ ญาติจึงไปดูศพที่กระท่อมกลางทุ่งนาใกล้ผนังกั้นแม่น้ำชี หมู่ 5 ตำบลแสนชาติ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์จริง จึงได้อายัตศพไว้และนำศพไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรพลิกศพโดยละเอียดอีกครั้ง สภาพศพผู้ตายถูกแขวนคอด้วยเชือกไนลอนหลายรอบกับขื่อกระท่อม ที่ศีรษะด้านซ้ายมีแผล มีรอยช้ำตามต้นขาและหน้าท้อง ลูกอัณฑะถูกบีบจนแตก ข้อมือทั้งสองข้างมีรอยรัด เท้าเปื้อนโคลน แต่รองเท้าที่วางอยู่ที่พื้นไม่มีรอยโคลน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2547 นางสาแจ้งความกรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์

ญาติเดินสายร้องเรียนไม่น้อยกว่า 5 หน่วยงาน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ในเดือนสิงหาคม นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีหลายครั้งที่ถูกติดตามคุกคาม ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกรายงานการตรวจสอบและสรุปผลการเสียชีวิตของนายเกียร์ติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งให้มีการลงโทษตามกฎหมาย โดยขอให้รัฐดำเนินการภายใน 60 วันและให้เยียวยาแก่ผู้เสียหาย

นอกจากนี้ วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์ยังได้เข้าร้องเรียนที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ต่อมามีรายงานผลออกมาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเห็นควรให้ยุติการสืบสวน

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมี พ.ต.อ.พรหม ผางสง่า รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานกรรมการ ต่อมาคณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่าข้าราชการตำรวจนายใดของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนเกี่ยวข้องใดต่อการหายไปและการตายของนายเกียรติศักดิ์ กรณีจึงไม่มีมูลที่จะเอาผิดทางวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 77, 78, 79 และมาตรา 84 และหรือทางอาญา จึงเห็นควรยุติการสอบสวน

วันที่ 28 กรกฎาคม  2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์เข้าร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปสำนวนสอบสวนโดย ตำรวจภูธรภาค 4 ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ และส่งสำนวนสอบสวนให้แก่คณะกรรมการการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เปิดเผยถึงรายงานผลการชันสูตรศพนายเกียรติศักดิ์ ว่าก่อนเสียชีวิตผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณจนเกิดบาดแผลตามจุดต่างๆ ในร่างกายหลายแห่ง ผู้ตายขัดขืนกลุ่มคนร้าย จนมีการฉุดกระชาก บริเวณข้อมือมีรอยกุญแจมือ อัณฑะถูกบีบจนเขียวช้ำอย่างรุนแรงและมีรอยปริแตก คล้ายวิธีการ “ดีดไข่” เพื่อต้องการทรมานให้ผู้ต้องหาคายความลับบางอย่าง บริเวณลำคอพบว่ามีการใช้เชือกไนลอนรัดคอหลาบรอบอย่างแรงจนลิ้นจุกปากขาดอากาศหายใจ ต่อมาคนร้ายได้นำศพขึ้นแขวนคออำพรางให้เหมือนว่าเป็นการฆ่าตัวตายเอง

วันที่ 30 กรกฎาคม  2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์ยื่นเอกสารเกี่ยวกับคดี และผลการชันสูตรศพแก่นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ  และต่อมาสภาทนายได้มีมติให้รับคดีไว้ช่วยเหลือ

วันที่ 9 สิงหาคม 2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์เข้าร้องเรียนต่อประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติเรื่อง โดยไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ญาตินายเกียรติศักดิ์ทำหนังสือร้องเรียนขอให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาโอนคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ พร้อมกับทำหนังสืออีกฉบับถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติรับคดีเกียรติศักดิ์เป็นคดีพิเศษ

วันที่ 3 มิถุนายน 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2548 ให้คดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสืบสวนตามมาตรา 22 วรรค 1 (2) แห่ง พ.ร.บ.สืบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ พ.ต.ท.สำเภา ยินดี, พ.ต.ต.สุมิตร นันทสถิต, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ, ด.ต.อังคาร คำมูลนา, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ย้ายศพเพื่อซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย

ในชั้นสอบสวนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทุกคน โดยห้ามผู้ต้องหาเข้ายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

วันที่ 20 พฤษภาคม  2552 ด.ต.อังคาร คำมูลนา, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง เข้ารับฟังข้อกล่าวหาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อำพรางการตาย  โดยทั้งสามปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล  พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ควบคุมตัวทั้งสามยื่นต่อศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังครั้งแรกเป็นระยะเวลา 12 วัน เนื่องจากต้องรอสอบพยานเพิ่มอีก 3 ปาก รวมทั้งรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา และทำการยื่นคัดค้านการขอประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และสะเทือนขวัญบุคคลทั่วไป  เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติกรรมคุกคามข่มขู่พยานและเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขัง  แต่ผู้ต้องหาได้ขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน และใช้ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้งสามเป็นหลักประกัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว  พร้อมสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

วันที่ 28 พฤษภาคม 2552  พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษควบคุมตัว พ.ต.ท.สำเภา อินดี ยื่นขอฝากขังครั้งแรก เนื่องจากมีพยานปากสำคัญที่ต้องสอบอีก 2 ปาก รวมทั้งต้องรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและสอบประวัติผู้ต้องหา  ทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน  ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว  พร้อมทั้งสั่งห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

วันที่ 2 กรกฎาคม  2552 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิตย์ เข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษตามหมายเรียกโดยศาลเห็นว่าควรออกหมายขัง แต่ผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามผู้ต้องหาเข้ายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

เกิดเหตุการณ์งัดตู้เก็บสำนวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

วันที่ 11 สิงหาคม 2552 ตู้เก็บสำนวนคดีนายกิตติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง และคดีนายกมล แหล่าโสภาพันธุ์ ซึ่งถูกอุ้มหายบนโรงพักบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดนงัด ในเบื้องต้นตรวจสอบไม่พบว่ามีเอกสารหลักฐานสูญหาย

อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีทั้ง 6 คน

วันที่ 9 กันยายน 2552 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 5 คน ได้แก่ 1. ด.ต.อังคาร คำมูลนา 2. ด.ต.สุทธินัน โนนทิง 3. ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ 4. พ.ต.ท.สำเภา อินดี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ 5. พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์  ศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3252/2552

พนักงานอัยการยื่นคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 เนื่องจากจำเลยทั้งห้ามีพฤติการณ์ในการข่มขู่พยาน ผู้มีส่วนได้เสียในคดีคือ นางพิกุล พรหมจันทร์ ยื่นคำแถลงคัดค้านการขอประกันตัว  เนื่องจากเมื่อศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน และมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น ปรากฏว่าจำเลยยังคงมีพฤติกรรมเป็นการข่มขู่คุกคามพยานมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 กลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 5-6 คนเข้าไปบุกรุกทำลายทรัพย์สินที่บ้านนางสา ถิตย์บุญครองพยานในคดี มีการข่มขู่คุกคามนางพิกุลทางโทรศัพท์ และคาดว่าโทรศัพท์ของนางพิกุลอาจถูกดักฟัง จนต้องมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หลายครั้ง และยังมีกรณีการงัดตู้เอกสารที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อนำเอกสารสำนวนในคดีนี้ไปถ่ายสำเนา นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย หากว่ามีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

อย่างไรก็ดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินประกัน 500,000 บาท โดยจำเลยบางส่วนใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักประกัน และบางส่วนใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552 นายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง ในฐานะผู้บุพการีของนายเกียรติศัพท์ ถิตย์บุญครองผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยมีทนายความจากสภาทนายความ

วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2552 อัยการได้ส่งฟ้องจำเลยอีกหนึ่งคนคือ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิตย์ อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ศาลรับฟ้องเป็นเลขคดีดำที่ อ.3466/2552 และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นในคดีนี้

โดยในคำฟ้องมีใจความว่า “จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาทั่วราชอาณาจักร ได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงคืน จำเลยทั้งหกร่วมกันควบคุมตัวนายเกียรติศักดิ์ฯ ผู้ต้องหา ออกไปจากห้องควบคุมผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายร่างกาย และบีบรัดคอนายเกียรติศักดิ์ฯ จนขาดอากาศหายใจ และถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนของจำเลยทั้งหก เมื่อระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง วันเวลาไม่ปรากฏชัด ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งหกร่วมกันย้ายศพนายเกียรติศักดิ์ฯ จากสถานที่เกิดเหตุแล้วนำศพไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนา บ้านบึงโดน ตำบลแสนชาติ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเจตนาเพื่อปิดบังการตาย และเหตุแห่งการตาย และระหว่างวันที่ 30 กรกฏาคม 2547 – 27 เมษายน 2548 จำเลยที่ 4 -6 ร่วมกันข่มขู่พยาน เพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ระบุว่า ในวันที่ผู้ตายถูกทำร้ายยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 วันนัดตรวจพยานหลักฐาน  ศาลมีคำสั่งให้นายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีศาลสั่งให้รวมคดีหมายเลขดำที่ 3466/2552 เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 3252/2552 ฝ่ายจำเลยขอโอนคดีไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ อ้างว่าเป็นศาลที่มูลคดีเกิดและพยานหลายปากมีภูมิลำเนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พนักงานอัยการโจทก์คัดค้าน  เนื่องจากพยานหลายปากถูกข่มขู่คุกคามจนต้องขอคุ้มครองพยาน ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนคดี แต่อาจส่งบางประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังสืบจำเลยหมดทุกปากแล้ว  ทั้งนี้ มีการนัดสืบพยานนัดแรกวันที่ 2 มีนาคม 2553

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ระงับการให้ความคุ้มครองพยานแก่นางพิกุล พรหมจันทร์ ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และระเบียบกรมสอบสวนพิเศษ ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองแก่พยานในคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 17 เนื่องจากการที่นางพิกุล ได้ขึ้นให้การเป็นพยานในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้คุ้มครองนางพิกุลอีกครั้งหนึ่ง

ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลย 5 คน ยกฟ้อง 1 คน

คดีนี้ใช้เวลาดำเนินคดีในชั้นศาลตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2554 มีการสืบพยานคดีนี้ทั้งของโจทก์  โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหมด  31 นัด และจำเลยได้ขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ดและบัวใหญ่

วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ศาลอาญามีคำพิพากษา โดยสรุปว่าจากการพิจารณาคดีในศาลเชื่อว่าผู้ตายไม่ได้ฆ่าตัวตาย อ้างอิงจากคำเบิกความเกี่ยวกับสภาพ และลักษณะการตายของนายเกียรติศักดิ์ฯ ของแพทย์หญิง นิตยา จิตรภาษณ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ตรวจชันสูตรศพ ณ ที่เกิดเหตุ และนายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ แพทย์ประจำสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ผ่าและตรวจชันสูตรศพ ได้ความว่า “ขณะมีการชันสูตรศพเบื้องต้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เวลา 8 นาฬิกาเศษ แพทย์ผู้ตรวจศพคาดว่า ผู้ตายเสียชีวิตมาประมาณ 8-12 ชั่วโมง จากสภาพศพอาจจะไม่ได้เกิดจากการฆ่าตัวตาย และเมื่อทำการผ่าศพเพื่อชันสูตรพบว่า ผู้ตายเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจซึ่งไม่น่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย เนื่องจากมารอยกดรัดที่ลำคอ 2 รอย บ่งชี้ได้ว่า มีการรัดคอจนตายแล้วจึงนำศพไปแขวนคอ สภาพศพมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงหลายแห่งก่อนตาย ที่ข้อมือมีรอยแดงลักษณะเหมือนถูกวัสดุเป็นสายหรือเป็นแถบกดรัด ภายในกระเพาะอาหารพบเศษข้าวสุกกับผักดอง คาดว่าทานอาหารมื้อสุดท้ายประมาณ 2-4 ชั่วโมง ก่อนตาย”

นอกจากนี้จากคำให้การของนายนิธิศ พุฒป่า เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกู้ภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ความว่า “จุดที่พบศพสามารถมองสังเกตเห็นได้โดยง่าย ศพมีรอยพกช้ำ ก่อนเกิดเหตุมีฝนตก แต่เท้าและรองเท้าแตะของผู้ตายไม่เลอะดินโคลน นับว่าเป็นลักษณะที่ผิดปกติของคนที่ผูกคอตายเอง” ซึ่งให้การไปในแนวทางเดียวกันกับนายสุทัศน์ เฟื่องสุคนธ์ ผู้พบศพ และพันตำรวจโทสำอาง สีหาบุตรโต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และตรวจศพ ว่านายเกียรติศักดิ์ฯ น่าจะไม่ได้ฆ่าตัวตาย

ส่วนในประเด็นว่าใครเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดบ้างนั้น ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่าจำเลย 5 คนกระทำผิดจริง จึงมีคำพิพากษา ดังนี้

  1. ด.ต.อังคาร คำมูลนา จำเลยที่ 1 ด.ต.สุดธินัน โนนทิง จำเลยที่ 2 และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายให้จำคุกคนละ 1 ปี และให้ประหารชีวิต จำเลยที่1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อรวมโทษแล้วให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 สถานเดียว
  2. พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ให้จำคุก 7 ปี
  3. พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
  4. พ.ต.ท.สำเภา อินดี อดีต สวป.สภ. เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง

(อ่านคำพิพากษาศาลอาญาฉบับเต็ม)

หลังจากศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาต

วันที่ 25 ธันวาคม 2555 โจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งมีส่วนรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1  ที่ 2 และที่ 3 สมควรได้รับโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พนักงานอัยการโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นกัน แต่ได้ยื่นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 5 และที่ 6

ต่อมาในเดือนมกราคม 2556 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

หลังศาลอาญาพิพากษา ผู้บังคับบัญชามอบเงินช่วยเหลือ

หลังตกเป็นจำเลย ทั้งหมดยังคงรับราชการตำรวจ รวมทั้งได้รับการเลื่อนยศตำแหน่งด้วย และหลังศาลอาญามีคำพิพากษาประมาณ 2 เดือน ได้ปรากฎข่าวจากเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4  ระบุว่า วันที่ 25 กันยายน 2555 พล.ต.ท.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในขณะนั้น ได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิตย์ พร้อมพวก รวม 4 คน เพื่อช่วยเหลือในกรณีถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ด้วย

วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า

  1. จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษอื่นมารวมอีกได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
  2. จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี
  3. จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบจำคุก 5 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต
  4. จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

(อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม)

โดยในระหว่างฎีกาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยหลักประกัน 1 ล้านบาท และมีเงื่อนไขว่าห้ามออกนอกประเทศ  ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหก

วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง วัยรุ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์ กับ ด.ต.อังคาร คำมูลนา ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน จำเลย ในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

ในห้องพิจารณาคดีที่ 902 มีผู้สนใจมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมากจนเกินความจุของที่นั่งในห้องพิจารณา คนที่มาฟังส่วนใหญ่เป็นญาติฝ่ายจำเลย มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฟังด้วย ในส่วนของคู่ความในคดีนั้น มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ทนายโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 – 4 และจำเลยที่ 6 ทนายจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 นายประกันจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่มาศาลตั้งแต่นัดที่แล้ว (วันที่ 6 กันยายน 2561) ครั้งนี้ก็ไม่มา ศาลได้ออกหมายจับไปแล้ว แต่ไม่สามารถติดตามจับกุมได้

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในลักษณะที่เรียกว่ากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ไปเลย โดยพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนางสาว อ. มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งหก
สำหรับเหตุผลของการยกฟ้องของศาลฏีกานี้ ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานปากนางสาว อ. มาวินิจฉัยเป็นหลัก โดยศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกฆ่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงนางสาว อ เป็นพยานปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนชั้น 2 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ การรับฟังพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

หนึ่งในประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานปากนางสาว อ. ไม่มีน้ำหนัก ก็คือประเด็นที่นางสาว อ ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหาร และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเช่นเดียวกับที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเบิกความต่อศาล โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าพยานได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่า เขาจะเอาผมไปฆ่า และไม่ได้ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดบ้างล็อคคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน ซึ่งศาลเชื่อว่าพยานสามารถให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ เพราะอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจกองบังคับการปราบปรามแล้ว เมื่อพยานไม่ให้การในรายละเอียดต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงถือว่ามีพฤติการณ์เป็นพิรุธส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวนและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้เคยวินิจฉัยโดยเห็นว่าการที่นางสาว อ ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากให้การไว้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชั้นศาลนั้น ดูจากพฤติการณ์และพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้วน่าเชื่อได้ว่าเกิดจากความเกรงกลัวจากการถูกคุกคาม ดังนั้น พยานปากนางสาว อ. จึงถือเป็นประจักษ์พยานและมีความน่าเชื่อถือ

มีอีกประเด็นที่ศาลฎีกาหยิบมาวินิจฉัยคือประเด็นสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ช่วงเวลาที่พยานนางสาว อ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนคือช่วงเวลาหลังจาก 19 นาฬิกาไปแล้วแต่แม่เกิน 19.15 นาฬิกา เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ประจำ ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.12.08 นาฬิกา ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 นาฬิกา ที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด หากดูระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสอบสวนช่วงเวลา 19 ถึง 19.15 นาฬิกา ศาลจึงเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากห้องสืบสวนเดินไปขึ้นรถแล้วเดินทางไปใช้โทรศัพท์ที่ถนนบายพาสกาฬสินธุ์และที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาดังกล่าว

ซึ่งประเด็นนี้ เดิมศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้คำเบิกความของพยานปากนางสาว อ เวลาจะคาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ไม่ได้กระทบสาระสำคัญของคดี โดยศาลอุทธรณ์ได้ฟังพยานหลักฐานอื่นๆประกอบแล้วเห็นว่าระยะเวลาที่จำเลยนำตัวผู้ตายออกไปสอดคล้องกับระยะเวลาที่ปรากฏสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1

อีกประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาศาลฎีกาคือ ศาลให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ระหว่างนางสาว อ พยาน กับนาง พ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม เช่น ทำไม นาง พ จึงไปรับพยานออกมาจากแฟลตตำรวจของกองบังคับการปราบปรามแล้วพาไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำพยานที่กองบังคับการปราบปราม ทั้งๆที่นาง พ ทราบอยู่แล้วว่าพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามและสามารถจะทำเช่นนั้นได้ แต่กลับไม่กระทำโดยไปรับพยานออกมาจากการคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องที่นางสาว อ พยานได้ขอเงินจำนวนหนึ่งจากนาง พ เพื่อเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว และเพื่อใช้วางมัดจำห้องเช่า

(อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม)

 

คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามยาเสพติดนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกคลี่คลาย จำนวนมากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตำรวจ ดังเช่นคดีนายเกียรติศักดิ์

ตำรวจถือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานตำรวจจึงต้องใช้อำนาจให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่ประชาชน  การที่ตำรวจใช้วิธีการนอกกฎหมาย โดยการเอาผู้ต้องหาไปฆาตกรรม การซ้อมทรมานผู้ต้องหา หรือแม้แต่การบังคับให้สูญหาย นอกจากจากตำรวจจะมีความผิดเป็นการส่วนตัวแล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์ของวงการตำรวจและกระบวนการยุติธรรมหมดความน่าเชื่อถือลงไปด้วย  และยิ่งเมื่อตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ได้ แถมมีการอวยยศ และได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้บังคับบัญชา มีการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ทางการอย่างภาคภูมิใจด้วยแล้ว สาธารณะจะมองวงการตำรวจไทยเป็นอย่างไร

 

อ้างอิง

[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ), ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, กรุงเทพฯ, มติชน, 2553 หน้า 143 อ้างอิงต่อจาก ฤดีโดม วิภาวิน, นโยบายปราบปรามยาเสพติด : 3 เดือนกับการประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติดของรัฐบาล : ศึกษากรณีลักษณะนโยบายและผลกระทบ, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต คณรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,   2545. เอกสารภาคผนวค

[2] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานการศึกษาปัญหาและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากนโยบายของรัฐบาลในการประกาศสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ. 2546

[3] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ), ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, กรุงเทพฯ, มติชน, 2553 หน้า 109 – 110

[4] อ้างแล้ว เรื่องเดียวกัน

[5] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานการศึกษาปัญหาและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากนโยบายของรัฐบาลในการประกาศสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ. 2546

[6] ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/crime/detail/9520000057093