เสวนา 2 ปีบิลลี่ ญาติและองค์กรสิทธิเรียกร้องให้เร่งสืบสวนสอบสวนคดีจนทราชะตากรรมของบิลลี่และเด่น คำแหล้ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐเร่งสร้างกลไกเพื่อป้องกันการบังคับสูญหาย

เสวนา 2 ปีบิลลี่ ญาติและองค์กรสิทธิเรียกร้องให้เร่งสืบสวนสอบสวนคดีจนทราชะตากรรมของบิลลี่และเด่น คำแหล้ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐเร่งสร้างกลไกเพื่อป้องกันการบังคับสูญหาย

วันที่ 10 พฤษภาคม2559 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการ 2 ปีบิลลี่ : อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนและวิเคราะห์สถานการณ์การบังคับสูญหาย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนร่วมผลักดันให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวโดยเร่งด่วนเพื่อที่จะยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและผลักดันกลไกในการป้องกันการบังคับสูญหายและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 50 คน

คุณพิณภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ กล่าวถึงการหายตัวไปของบิลลี่ วันสุดท้ายที่เขาพบบิลลี่อยู่บ้านก็คือวันที่ 15 เมษายน 2557 และได้ข่าวจากน้องชายของบิลลี่ ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวเขาไว้ที่ด่านมะเร็ว เหล่าแล้วเขาก็หายตัวไป

มึนอยังกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของบิลลี่และถูกร้องขอให้ตรวจสอบและขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ แต่ปัจจุบันกลับได้รับผิดชอบหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เหมือนคนๆนี้มีอำนาจเหนือกฎหมาย ทำไมคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำบิลลี่และคดียังไม่ถึงที่สุด กลับได้รับตำแหน่งที่ดูจะใหญ่โตขึ้น

นอกจากนี้ มึนอยังกล่าวถึงการยื่นคำร้องให้ศาลตรวจสอบการควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบ ตามมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ก็ปรากฎว่าทั้งสามศาลต่างยกฟ้องไปแล้ว

คุณวราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือทางกฎหมายในการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่โดยมิชอบ สะท้อนปัญหาว่าการใช้เครื่องมือทางกฎหมายผ่านกลไกมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น พบว่าศาลไม่ได้เข้าไปค้นหาความจริงอย่างเต็มที่ ในศาลฎีกานั้นพบว่าศาลเน้นวินิจฉัยในข้อกฎหมายจนตัดข้อเท็จจริงออกไปแทบทั้งหมด กล่าวคือศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลไม่สามารถรับฟังพยานปากของชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนพยานฝ่ายของผู้ร้องก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงให้ฟังได้ ข้อเท็จจริงที่จะรับฟังว่าบิลลี่ถูกควบคุมตัวไว้โดยมิชอบจริงหรือไม่จึงไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ศาลก็เลยยกฟ้อง

มีคำถามว่า กรณีเช่นนี้ที่กระบวนการพิจารณาที่กระทำโดยมิชอบตั้งแต่ศาลชั้นต้น จนนำมาสู่การตัดพยานและการยกฟ้อง สังคมได้อะไรจากกรณีนี้ ญาติได้อะไรจากกรณี สิ่งที่ได้มีเพียงแค่สังคมได้รับรู้ว่าชาวกระเหรี่ยงคนหนึ่งหายไปเท่านั้น

ทนายกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคดีอาญาของบิลลี่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 7 และนายยวัฒน์ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ปปท. อยู่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

พ.ต.อ. ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตพนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดีบิลลี่ กล่าวถึงการเข้ามารับผิดชอบสอบสวนคดีบิลลี่ โดยตนเข้ารับรับคดีนี้หลังจากผ่านไปสามเดือนที่บิลลี่หายไปแล้ว เนื่องจากคำร้องขอของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ผมสรุปได้เลยว่า การปล่อยตัวตามที่หัวหน้าอุทยานในสมัยนั้นกล่าวอ้างไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เพราะผมได้ไปสอบปากคำของนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ เขาบอกว่าหลังจากชัยวัฒน์รับตัวไปแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นบิลลี่อีกเลย ส่วนพยานที่ตนไปสอบปากคำนั้นก็ยืนยันว่าไม่มีใครเห็นหลังจากชัยวัฒน์รับตัวบิลลี่ไปแล้ว นอกจากนี้คดีนี้ยังมีกล้องวงจรปิด ซึ่งนายชัยวัฒน์ก็อ้างเวลาผิดพลาดไปจากเวลาในกล้อง ส่วนปากคำของนายชัยวัฒน์เองที่อ้างว่าปล่อยตัวบิลลี่แล้ว ก็ให้การวกวนไปมา นอกจากนี้ตนและทีมสอบสวนยังได้จำลองเหตุการณ์กว่าสิบรอบ ยืนยันว่าการปล่อยตัวตามที่หัวหน้าอุทยานกล่าวอ้างไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ผมไล่ซักพนักงานสอบสวนที่รับแจ้ง เหตุการณ์ ซึ่งตอนแรกหลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนที่รับเรื่องได้โทรไปถามลูกน้องนายชัยวัฒน์ ซึ่งในตอนแรกให้การว่าไม่มีการจับตัวบิลลี่ไว้ แต่มายอมรับตอนหลังว่าได้จับตัวไว้และปล่อยแล้ว

ในส่วนความคืบหน้าของคดีนี้ ปัจจุบันนายชัยวัฒน์ยังอยู่มีคดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอยู่ในการดำเนินการของ ปปท. ส่วนคดีการทำให้บิลลี่หายนั้น ยังอยู่ในการดำเนินการของตำรวจ ซึ่งก็ยากลำบากอยู่พอสมควร เพราะแม้นายชัยวัฒน์จะถูกย้ายจากการเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยห่างจากพื้นที่เลย และยิ่งเป็นที่น่าสังเกตคือนายชัยวัฒน์นอกจากจะมีคดีกรณีของบิลลี่แล้ว เขยังมีคดีเรื่องอาวุธปืนสงคราม แต่เขากลับถูกมอบภารกิจที่ดูเหมือนว่าจะใหญ่ขึ้น

คุณสุภาพ คำแหล้ ภรรยาลุงเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำการนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว ที่หายตัวไปอย่างน่าสงสัยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 คุณสุภาพกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนลุงเด่นหายตัวไปว่า ลุงเด่นได้บอกว่าจะเข้าไปหาหน่อไม้ในป่าเพื่อไปขาในตลาด โดยลุงเด่นมีสิ่งติดตัวไปด้วยแค่ข้าวเหนียวหนึ่งปั้น มีด ขวดน้ำดื่น หลังจากลุงเด่นไม่กลับบ้าน แม่สุภาพก็ออกตามหาลุงเด่นคนเดียวตอนกลางคืน วันต่อๆมาก็มีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนได้ระดมกำลังกันค้นหา ชาวบ้านช่วยกันตามหามากว่า 20 วัน ได้พบท่อนไม้น่าสงสัย ซึ่งน่าจะโดนตัดมาจากที่อื่น และตอนนี้พบกองกระดูกแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

คุณไสว มาลัย เครือข่ายปฎิรูปที่ดินอีสาน  กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อน่าสงสัยของการหายไปของลุงเด่น คำแหล้ ซึ่งดูจากพฤติการณ์การหายตัวไปครั้งนี้ มีข้าวเหนียวปั้นหนึ่ง น้ำ และมีดนั้น ชาวบ้านตั้งสมมติฐานไว้ 4 ประเด็นคือ หลงป่า สัตว์ทำร้าย ป่วย และถูกอุ้มหาย โดยประเด็นแรกหลงป่า เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะลุงเด่นอยู่ที่นี้มานานและชำนาญป่า อีกทั้งยังเคยเป็น พคท. ในเขตงานนี้ด้วย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะหลง ประเด็นที่สองกรณีถูกสัตว์ทำร้าย ถ้าเป็นสัตว์ทำร้ายน่าจะมีร่องรอยเสื้อผ้าและการต่อสู้ แต่เท่าที่ออกค้นหาเราไม่พบเจอสิ่งเหล่านี้ ประเด็นที่สามป่วย ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าป่วยก็ต้องหาเจอว่าอยู่ไหน ส่วนประเด็นที่สี่คืออุ้มหายไปนั้น  จากการค้นหาของพวกเราสองสามร้อยคนในแต่ละวัน น้อยสุดคือสี่สิบคน เรากระจายแบบตีหน้ากระดาน จน เราไปพบกองไฟที่ดับแล้ว หลังแคมป์เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งสังเกตจากการลุกไหม้ ไฟนี้น่าจะแรงและสูงมาก เพราะต้นไม้ต้นสูงๆนี้แห่งหมดเลย และสังเกตจากกองฟืนที่นำมาเผาน่าจะนำมาจากที่อื่น ในกองไฟเราพบกระดูก แต่ก็ยังไม่ยืนยันว่าเป็นกระดูกอะไร เราจึงเก็บมาเพื่อให้นิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจ

คุณสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รู้สึกเศร้าเสียใจทั้งกรณีของบิลลี่และของลุงเด่น สองกรณีนี้เราน่าจะมาพูดถึงการป้องกันแทนที่จะมารอให้เกิดการสูญเสียแล้ว กรณีของบิลลี่เป็นการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในการอยู่ในที่ดินที่ชาติพันธุ์ของเขาอยู่มายาวนาน การต่อสู้ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานแล้ว แต่รัฐก็ลอยตัวไม่ยอมแก้ไขปัญหา จนกระทั่งบิลลี่มาหายตัวไป ซึ่งปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข กรณีของเด่นก็คล้ายกัน เขาสู้เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องโฉนดชุมชน เป็นการต่อสู้มาอย่างยาวนานเช่นกัน แต่รัฐก็ลอยตัวไม่แก้ปัญหา ที่พูดว่ากำลังจะบอกว่า รัฐไม่ยอมแก้ปัญหามันจนนำมาสู่จุดนี้

ปัญหาการอุ้มหายป้องกันได้ หากรัฐสามารถที่จะเข้ามาเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เวลาพูดถึงความยุติธรรมมักจะพูดกันไปถึงเรื่อง ตำรวจ อัยการ ศาล แต่แท้จริงด่านแรกที่ต้องทำคือหน่วยงานราชการ กับกฎหมายที่ดำเนินการบังคับใช้ ส่วนเรื่องของศาลเป็นเรื่องของอีกขั้นตอนหนึ่ง ยกตัวอย่างกรณีของทั้งสอง ก็มาจากการนโยบายของรัฐ และยิ่งปัจจุบันรัฐมีการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองอีกมาก

คดีอุ้มหายโดยทั่วไปมักจะเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ไม่ใช่คดีอิทธิพลธรรมดา หรือถ้าเป็นคดีอิทธิพลเราอาจจะต้องบอกว่าบางเรื่องเป็นเรื่องของคนที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือมีโครงการอะไร เมื่อรัฐลอยตัวไม่เร่งแก้ปัญหา มันก็เสริมอำนาจให้กับกลุ่มอิทธิพลที่ขัดแย้งอยู่กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ชาวบ้าน ทำให้เขาต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ถ้าหากว่ากระบวนการแก้ไขปัญหายังคงเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องสูญเสียอีกแน่นอน

ส่วนในการติดตามหาตัวและการนำคนผิดมาลงโทษ มันต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ต้องมีการมาทบทวนกฎหมายทั้งหมาที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่กฎหมายต่อต้านการทรมานและบังคับสูญหายอย่างเดียว เราต้องพูดถึงกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปกป้องนักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน

คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายถึงหลักการการป้องกันการบังคับสูญหายในมิติของกฎหมายระห่างประเทศ โดยกล่าวว่าเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่าการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีองค์ประกอบสำคัญคือ รูปแบบการกระทำ ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น และมีผู้กระทำเป็นตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และองค์ประกอบสุดท้ายคือมีผลของการกระทำคือทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย

พูนสุขได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐประกาศสงครามกับยาเสพติดในช่วงปี 2546 คือกรณีของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ต่อมามีผู้มาประกันตัวให้เกียรติศักดิ์ ตร.แจ้งญาติว่ากลับบ้านแล้ว แต่เกียรติศักดิ์ ยังไม่ได้กลับ หลายวันถัดมาญาติได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองกาฬสินธุ์ว่าพบศพเกียรติศักดิ์ โดยสภาพศพมีผู้ตายถูกแขวนคอด้วยเชือกไนล่อนหลายรอบกับขื่อกระท่อม ที่ศีรษะด้านซ้ายมีแผล มีรอยช้ำตามต้นขาและหน้าท้อง ลูกอัณฑะถูกบีบจนแตก ข้อมือทั้งสองข้างมีรอยรัด แม้คดีนี้ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ แต่ต้นทุนในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมสูงมาก

เราจะเห็นว่าการอุ้มหายไม่ได้เกิดขึ้นเดียวๆ แต่เกิดร่วมกับการควบคุมตัวโดยมิชอบ การทรมาน และการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม แต่เราสามารถใช้กลไกของการป้องกันการบังคับสูญหายเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิกรณีเหล่านี้ได้ด้วย

พูนสุข กล่าวถึงปัจจัยที่เอื้อให้มีการบังคับสูญหาย ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษ มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีสถานการณ์ความขัดแย้งหรือมีนโยบายรัฐบางประการเป็นตัวกระตุ้น

ทางแก้จึงต้องเน้นที่การป้องกัน ได้แก่ ห้ามควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ลับ เพราะพันธกรณีหนึ่งของอนุสัญญาฯ คือการห้ามการควบคุมตัวในที่ลับ คือเรารู้ว่ามีการควบคุมตัว แต่ไม่รู้ว่าควบคุมตัวที่ไหน หรือการให้มีการควบคุมตัวไว้เป็นระยะเวลายาวนาน ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับสิทธิในการเยี่ยมจากญาติ กรณีแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้บุคคลถูกบังคับสูญหายได้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ปกปิดสถานที่ควบคุมตัว (ควบคุมตัวในสถานที่ลับ) ทำให้ญาติ ทนายความไม่สามารถเข้าถึงได้ในระหว่างการควบคุมตัวในสถานที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ปกปิดชะตากรรม อ้างว่ามีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวไปแล้ว ปฏิเสธว่าไม่มีการควบคุมตัว อ้างว่าผู้ถูกควบคุมตัวสมัครใจอยู่ต่อ และในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และญาติหรือทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ และเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวมักจะไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวไป มีการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งบุคคลที่ถูกควบคุมตัวออกมาในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม ยกกรณีของคุณสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน หรือกรณีกฤชสุดา หรือกรณีหมอหยองที่เสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำท มทบ.11

การควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี หรือเรือนจำ มทบ.11 เป็นเรือนจำสังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทหาร มีผู้คุมพิเศษเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้

ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตระหว่างคุมขัง 2 ราย โดยเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีงานศพด้วยซ้ำ และยังมีร้องเรียนว่ามีการทรมาน 1 ราย และเมื่อศูนย์ทนายความฯขอข้อมูลไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ก็ถูกปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลสถิติผู้ต้องขัง  การไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกคุมขัง ไม่เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิต กรณีแบบนี้แหละที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับสูญหาย

การยกเว้นความรับผิด กรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ทำให้เจ้าหน้าที่หลุดพ้นความรับผิด อย่างกรณีที่มีผู้ถูกละเมิดแล้วศาลปกครองบอกว่าอยู่ภายใต้มาตรา 44 ไม่ต้องรับผิด เป็นต้น

พูนสุขกล่าวสรุปปัญหาเกี่ยวกับการบังคับสูญหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีอื่นๆว่า กฎหมายพิเศษเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดเรื่องการบังคับอุ้มหายโดยตรง การไม่มีมาตรการในการป้องกันการบังคับสูญหาย การไม่มีกลไกทางกฎหมายที่เป็นอิสระในการติดตามและเยียวยากรณีเกิดปัญหา ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และช่องว่างทางกฎหมายทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิ และปัญหาเรื่องการคุ้มครองพยาน

พูนสุขกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราพยายามใช้กลไกตามมาตรา 90 เรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบ เพื่อใช้กลไกศาลในการตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

พูนสุขส่งท้ายด้วยการเสนอทางออกว่า ควรมีการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ การยกเลิกการควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวลับ และรัฐไทยต้องให้สัตยาบัน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย” และควรมีกลไกที่เป็นอิสระและเป็นกลางมาทำหน้าที่ในการช่วยสืบสวนสอบสวน

คุณไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นว่าการอุ้มหายเกิดขึ้นมานานแล้ว ในอดีตตั้งแต่นานแล้วก็มีการอุ้มหายคุณเตียง ศิริขันธุ์ และปัจจุบันก็มีการไปพบสุสานเผานั่งยางที่จังหวัดอุดรธานี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการอุ้มหายยังดำรงอยู่ในสังคมไทยมาตลอด กฎหมายที่เรามีในปัจจุบันไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถป้องกันและดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้

การอุ้มหายเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือเจ้าหน้าที่สนับสนุนให้เขาทำ ดังนั้นหากใช้มาตรการปกติ ไม่มีทางเอาผิดได้ เพราะคนที่ทำผิดคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีอำนาจมีเครื่องมือ ขณะที่คนที่ถูกกระทำเป็นบุคคลธรรมดา อำนาจความเท่าเทียมเลยไม่เกิด จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องมีมาตรการพิเศษ

เราต้องเห็นว่าการอุ้มหายเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุด และหากเกิดเป็นระบบจะเป็นความผิดต่อมวลมนุษยชาติ จะต้องป้องกันให้ได้ โดยไม่ทำให้คนผิดลอยนวล จะทำยังไงให้เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ และการเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดด้วย เพราะอยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ระดับล่างจะไปกระทำความผิดพวกนี้คงยาก ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่รู้เห็นเป็นใจ

นอกจากนี้ คนที่ถูกกระทำจะต้องๆได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอ คนที่เป็นญาติของคนที่สูญหายต้องสามารถรู้ข้อมูลและชะตากรรมของผู้สูญหายให้ถึงที่สุด และไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆจะอ้างให้มีการบังคับสูญหายไปไม่ได้

และต้องมีการคุ้มครองพยานเป็นพิเศษ ต้องมีการเปิดเผยการควบคุมตัว การสอบสวนจะต้องไม่เป็นคนกลุ่มเดียวกันสอบสวน คดีอุ้มหายก็เป็นคดีหนึ่งที่จำเป็นต้องมีหน่วยสอบสวนพิเศษและมีเครื่องมือพิเศษมาดำเนินการ

ปัจจุบันกฎหมายของไทยไม่มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับการอุ้มหาย เมื่อไม่มีข้อหานี้ การตั้งข้อหาจึงต้องไปตั้งข้อหาอื่น เช่นหน่วงเหนี่ยวกักขังให้สูญเสียอิสรภาพ อย่างคดีทนายสมชาย ซึ่งโทษต่ำมาก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมาแก้กฎหมายภายในของเรา ซึ่งอนุสัญญาก็พูดไว้ชัดเจน  ในปัจจุบันมีความพยายามเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยบรรลุผล

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีกฎหมาย เพื่อที่จะเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะถ้ายังเอาผิดคนที่ทำผิดไม่ได้ คนก็จะทำผิดเรื่อยไป แถมได้รางวัล คือว่า คุณฆ่าคน คุณได้รางวัลได้อย่างไร กรณีอย่างที่ตากใบ ซ้อมทรมานแต่กลับได้รางวัล นี่คือสังคมไทย ดังนั้น แนวทางสำคัญเราต้องมีกฎหมายพิเศษ อย่างน้อยจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำอีก  และจะได้มีเครื่องมือจัดการ เพราะการอุ้มหายเป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลอยู่กับเขา หลักฐานต่างๆอยู่เขา มันจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาจัดการ

เรื่องการอุ้มหาย นอกจากจะเป็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มันยังมีทัศนคติของสังคมในการสนับสนุนการอุ้มหาย  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องทัศนคติอำนาจนิยมของสังคมไทยที่สนับสนุนอำนาจนิยมให้เกิดการฆ่า การทำกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอย่างรุนแรง