Day: January 8, 2019

วงเสวนาคดีปกครองแก่งกระจานระบุคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหลีกเลี่ยงรับรองสิทธิชุมชน เสนอใช้ มติ ครม. 3 สิงหา 53 แก้ปัญหาคนกะเหรี่ยงกับป่า

 สิทธิชุมชนเป็นประเด็นที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้รับรองอย่างเต็มที่   และศาลยังไม่เข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่าที่ควร  แต่ความก้าวหน้าของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนี้คือการวางมาตรฐานในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ  และได้ช่วยเน้นย้ำสถานะของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 แม้จะประเด็นเล็กๆในคำพิพากษา แต่ก็น่าจะเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาคนกะเหรี่ยงกับป่าอนุรักษ์ได้พอสมควร วันที่ 8 มกราคม 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ร่วมกับสภาทนายความ  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด”  ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ดูคลิปเต็มการถ่ายทอดสดการเสวนา) เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน/ใจแผ่นดินจำนวน 6 คนได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมื่อปี 2554 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ประเด็นที่ศาลบอกว่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดังกล่าวเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่เหตุใดพวกเขาถึงไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และจะทำอย่างไรให้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  และอื่นๆ ประเด็นเหล่านี้ ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐที่ปกป้อง คุ้มครอง เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต่อไป อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม […]

ทนายยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินการควบคุมตัวหญิงชาวซาอุฯโดยมิชอบ แต่ศาลยกฟ้องอ้างเหตุไม่มีหลักฐานทั้งที่ยังไม่ได้ไต่สวน

วันที่ 7 มกราคม 2562 ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและ NSP Legal Office ได้เข้าช่วยเหลือหญิงชาวซาอุดีอาระเบียถูกควบคุมตัวในประเทศไทย โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ศาลไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสถานทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย พร้อมบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตแอร์ไลน์ทำการควบคุมตัวนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน (Mr. Rahaf Mohammed Alqunun) หญิงอายุ 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้หลบหนีจากครอบครัว เพราะการถูกบังคับให้แต่งงานและถูกทำร้ายอย่างหนัก โดยเธอได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อต่อเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิปรากฎว่าเธอได้ถูกควบคุมตัวไปกักขังไว้ที่ห้องพักในโรงแรมมิราเคิลทรานซิท อาคารระหว่างประเทศขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งถูกยืดเอกสารหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน และเอกสารประจำตัวไปแล้วนำตัวไป ขณะนี้เธอยังถูกกักขังอยู่ในห้องพักโรงแรมดังกล่าว นางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูนได้แจ้งแก่ทนายความว่า เธอไม่ต้องการเดินทางไปยังประเทศคูเวตและประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากหากถูกส่งตัวกลับไปจะมีภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต จากเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา อย่างไรก็ดีบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาควบคุมตัวเธอยืนยันจะดำเนินการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง นอกจากนี้ผู้นำในคณะรัฐบาลไทยได้ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงการต้องส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง  ทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล เพราะเห็นว่าพฤติการณ์การกักขังดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการขังโดยกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่จะส่งตัวเธอกลับไปยังประเทศต้นทาง อาจขัดต่อหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ รวมถึงหลักการห้ามผลักดันกลับหากบุคคลนั้นเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย […]

แถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางสาวราฮาฟ และต้องไม่ส่งกลับไปยังรัฐที่ทำให้เธอไม่ปลอดภัย

(English version below) สืบเนื่องจากการควบคุมตัวนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน (Ms. Rahaf Mohammed Alqunun) หญิงชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้หลบหนีจากครอบครัว เพราะไม่อยากแต่งงาน และได้ถูกทำร้ายอย่างหนักทางร่างกายและจิตใจ โดยได้เดินทางมาต่อเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิปรากฎว่ามีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสถานทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย พร้อมบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตแอร์ไลน์มาควบคุมตัวเธอไปกักขังไว้ที่ห้องพักในโรงแรมมิราเคิล ทรานซิท สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งได้ยืดเอกสารหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน และเอกสารประจำตัวไปแล้วนำตัวไป และไม่ยินยอมให้เธอเดินทางต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย ขณะนี้เธอยังถูกกักขังอยู่ในห้องพักโรงแรมดังกล่าว นางสาวราฮาฟ ได้แจ้งแก่ทนายความที่เข้าให้การช่วยเหลือว่าเธอไม่ต้องการเดินทางไปยังประเทศคูเวตและประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากหากถูกส่งตัวกลับไปจะมีภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต จากเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การควบคุมตัวนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน ถือเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกายของบุคคล อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการสำคัญที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และพฤติการณ์การควบคุมตัวดังกล่าว  ยังอาจเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวหรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย เพราะนางสาวราฮาฟ มิได้กระทำความผิดกฎหมายใดใดในประเทศไทยขณะที่ขอต่อเครื่องเดินทางไปประเทศที่สาม การที่ประเทศไทยโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะผลักดันนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน   ซึ่งแสวงหาที่ลี้ภัยเพราะต้องเผชิญกับอันตรายอันเกิดจากการไม่ยินยอมสมรสและเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนา  ให้กลับไปยังประเทศต้นทาง ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพของบุคคลในการนับถือศาสนา สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกบังคับให้ทำการสมรสโดยปราศจากความยินยอมอย่างเต็มใจ และสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆ […]