Day: March 10, 2018

การควบคุมอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองโดยศาลปกครองไทย (ตอนที่ 3) โดย นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

อ่านการควบคุมอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองโดยศาลปกครองไทย (ตอนที่1) (ตอนที่2) (ตอนที่4) 2.3 การแบ่งประเภทของอำนาจดุลพินิจ การแบ่งประเภทของอำนาจดุลพินิจนั้นสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทแล้วแต่แง่มุมและวัตถุประสงค์ในการแบ่ง ในที่นี้จะเสนอแง่มุมในการแบ่งประเภทอำนาจดุลพินิจใน 3 แง่มุม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 2.3.1 การแบ่งประเภทของอำนาจดุลพินิจโดยพิจารณาจากขั้นตอนของการใช้กฎหมาย หากพิจารณาจากขั้นตอนการใช้กฎหมายสามารถแบ่งประเภทของอำนาจดุลพินิจออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ดุลพินิจที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการ และดุลพินิจในการเลือกมาตรการใดมาตรการหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด<13> ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ก) ดุลพินิจที่จะกระทำการหรือไม่ (Entschliessungsermessen) เป็นกรณีที่เมื่อมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมาย แล้วกฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจที่จะตัดสินใจว่าฝ่ายปกครองจะกระทำการหรือไม่กระทำการก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเฉพาะรายที่เกิดขึ้นและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 43 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีลักษณะพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้โดยง่ายหรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์และพื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” ตามบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรี มีอำนาจ ออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมาย การ”ให้อำนาจรัฐมนตรี” ตามบทบัญญัตินี้ก็หมายความว่าให้รัฐมนตรีมีอำนาจดุลพินิจที่จะประกาศหรือไม่ประกาศให้พื้นที่ที่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมายเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็ได้ ข) ดุลพินิจที่จะเลือกมาตรการใดมาตรการหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด (Auswahlermessen) เป็นกรณีที่เมื่อมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมาย แล้วกฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจที่จะเลือกมาตรการใดมาตรการหนึ่งหรือหลายมาตรการตามที่กฎหมายกำหนด ในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเฉพาะรายที่เกิดขึ้นและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 37 บัญญัติว่า “ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ประกอบการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือการประกอบกิจการโรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย […]