Day: January 13, 2018

การควบคุมอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองโดยศาลปกครองไทย (ตอนที่1) โดย นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

อ่านการควบคุมอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองโดยศาลปกครองไทย  (ตอนที่2) (ตอนที่3) (ตอนที่4) 1. ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครอง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองว่าเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ในระบบกฎหมายมหาชนโดยมีเหตุผลรองรับอย่างไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของ กฎหมายมหาชนที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคำสอนว่าด้วยอำนาจดุลพินิจนั้นมีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับหลัก การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายอย่างมาก ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป 1.1 ความหมายของหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ในการใช้อำนาจกระทำการใด ๆ ของฝ่ายปกครองที่จะไปกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญของรัฐได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองแก่ประชาชนได้ก็ต่อ เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและต้องกระทำการดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่ากฎหมายเป็นทั้งที่มา (Source) และข้อจำกัด (Limitation) ในการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง[1] เนื้อหาสาระหลักของหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายนั้นแบ่งได้เป็น 2 หลักการย่อย[2] คือ หลักการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการที่เรียกร้องให้การกระทำของฝ่ายปกครองต้องอยู่ในกรอบของ กฎหมายที่บังคับใช้ภายในรัฐ และหลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการที่เรียกร้องให้การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองที่จะต้องมีกฎหมาย เป็นฐานรองรับ โดยกฎหมายที่เป็นฐานรองรับอำนาจของฝ่ายปกครองต้องเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น 1.2 หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายกับหลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายตามที่ได้กล่าวมาในข้อ 1.1 นั้น ไม่เพียงเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองที่ประสงค์จะใช้อำนาจไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนต้องกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและกระทำการภายในขอบเขตที่ กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องต่อไปอีกด้วยว่า กฎหมายที่เป็นฐานอำนาจให้ฝ่ายปกครองออกคำสั่งหรือดำเนินมาตรการใดๆ ที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องมีความแน่นอนชัดเจนเพียงพอ ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่ใต้บังคับของกฎหมายสามารถคาดหมายได้ล่วง หน้าว่าถ้าพวกเขาตัดสินใจใช้สิทธิเสรีภาพกระทำการประการใดประการไป ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งสนองตอบการกระทำของพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายไว้อย่างแน่นอนชัดเจนยังเป็นหลักประกันว่าประชาชน จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย[3] ความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่ประชาชนจะสามารถใช้ สิทธิเสรีภาพเพื่อพัฒนาศักยภาพของพวกเขาทั้งทางกายภาพและจิตใจของพวกเขาได้ […]