Year: 2014

ศาลสั่งสอบนายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่

ล่าสุดวันนี้ เวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่ส่วนคำร้องกรณีนายบิลลี่หายตัวไป โดยศาลสั่งให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายเกษม ลือฤทธิ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.6 (เขามะเร็ว) มาสอบพยานเพิ่มเติม ในวันที่ 30 เมษายน 2557 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยกรณีนี้สืบเนื่องมาจาก เช้าวันนี้ (24 เมษายน 2557) คณะทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยภรรยาของนายบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อขอไต่สวนกรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ เพื่อขอศาลเรียกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวมาไต่สวนให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายบิลลี่ และขอให้ปล่อยตัวทันที ทั้งนี้ นายบิลลี่ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี  ได้หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และไม่ทราบชะตากรรมจนถึงปัจจุบัน ในช่วงบ่าย ศาลได้พิจารณาไต่สวนคำร้องและพยานฝ่ายผู้ร้องแล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า นายพอละจีอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหรือไม่ เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น จึงเห็นสมควรให้มีหมายเรียก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายเกษม […]

17 เม.ย. 57 นัดส่งตัวนักข่าวภูเก็ตหวานขึ้นศาล หลังถูกกองทัพเรือฟ้องหมิ่นฯ ลุ้นประกันตัววันนั้น

17 เมษายน 2557 เวลา 9.30 น. อัยการจังหวัดภูเก็ต นัดหมายให้ นายอลัน มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ “ภูเก็ตหวาน” ไปพบที่ศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล ในคดีที่กองทัพเรือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่ “รายงานพิเศษเรื่อง : ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ” ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานชิ้นนี้มีการกล่าวพาดพิงว่าเจ้าหน้าที่กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2556 กองทัพเรือจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตให้ดำเนินคดีทั้งสองคนฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) คดีนี้ นักข่าวทั้งสองคนยืนยันพร้อมจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยต้องการให้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาการละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน โดยใช้การดำเนินคดีพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย  เนื่องจากกฎหมายนี้ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่โจรกรรมข้อมูลในคอมพิวเตอร์ หรือการเจาะระบบ เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองไม่ยอมรับการใช้กฎหมายนี้กับสื่อมวลชน จึงไม่ต้องการใช้หลักทรัพย์ของตัวเองเพื่อยื่นขอประกันตัวและยินยอมที่จะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยขอให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นผู้ประกันตัว และประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  ล่าสุดศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามันมูลนิธิอันดามันได้ให้ความช่วยเหลือโดยให้ใช้สลากออมสินสำหรับใช้ยื่นประกันตัวในวันที่ 17 เม.ย.นี้ โดยยังต้องรอลุ้นว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ ก่อนหน้านี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  และสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องคดีนี้